วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถาน และประวัติศาสตร์


อันดับ 1 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ "วัดพระแก้ว" กรุงเทพมหานคร

          พระอารามหลวงในบริเวณพระบรมมหาราชวังแห่งนี้  เป็นหนึ่งในบรรดาแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกๆ ของประเทศ ที่เปิดเผยออกสู่สายตาของชาวโลกเมื่อแรกเริ่มมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวขึ้นในประเทศไทยเมื่อ 50 ปีก่อน นอกจากความสำคัญในฐานะเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร "พระแก้วมรกต" สถาปัตยกรรมหลายยุคหลายสมัยที่สร้างเสริมสืบต่อกันมาและการตกแต่งประดับประดาอันอลังการ ก็เป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดใจ โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังรอบพระระเบียงคด เรื่องรามเกียรติ์อันวิจิตรตระการตาและมีความยาวที่สุดในโลก

อันดับ 2 วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

          ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองบนยอดดอยสูง สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ พ.ศ. 1916 ในสมัยพญากือนาแห่งอาณาจักรล้านนา ความสง่างามขององค์พระธาตุเจดีย์เหลี่ยมประดับด้วยแผ่นทองอร่ามตา รวมทั้งการตกแต่งประดับประดาด้วยศิลปกรรมล้านนาอันงดงาม ท่ามกลางม่านหมอกของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์เหนือเทือกดอยสูง รวมทั้งสภาพอากาศอันเย็นสบาย ผสมผสานกันเป็นบรรยากาศอันขรึมขลังที่แตกต่างจากสถานที่อื่น ๆ อย่างเป็นเอกลักษณ์ สร้างความประทับใจกับผู้มาเยือนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้รับคะแนนนิยมอย่างล้นหลามตามอันดับ 1 มาติด ๆ


อันดับ 3 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          อดีตราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดของสยามประเทศ คือ 417 ปี ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2534 ร่องรอยสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่และงดงามที่หลงเหลือกระจัดกระจายอยู่สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองสืบเนื่องมาหลายยุคหลายสมัย แม้ในระยะหลังจะมีปัญหาความเสื่อมโทรมและการรุกล้ำพื้นที่ จนมีข่าวลือหนาหูว่าจะถูกเพิกถอนจากบัญชีมรดกโลก แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับการปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาจนคลี่คลายไปได้ด้วยดี ด้วยระยะทางที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ ไม่ไกลเกินนักท่องเที่ยวทั่ว ๆ ไปจะสัมผัสได้ ทำให้ได้รับคะแนนนิยมมาเป็นอันดับ 3


อันดับ 4 วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

          องค์พระปรางค์สูงตระหง่านเสียดฟ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดด้านงานสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยมแห่งหนึ่งของยุครัตนโกสินทร์ ด้วยความสูงทั้งสิ้น 33 วาเศษ จึงถือว่าเป็นพระปรางค์ที่สูงใหญ่ที่สุดในโลกด้วย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 รอบองค์ปรางค์วิจิตรอลังการด้วย การตกแต่งประดับประดาด้วยถ้วยชามกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ เป็นเอกลักษณ์อันเป็นที่รู้จักดีอย่างหนึ่งของประเทศไทยในสายตาชาวต่างประเทศ จึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของตราสัญลักษณ์ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ซึ่งกลายมาเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในทุกวันนี้


อันดับ 5 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

          เมืองโบราณที่มีร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ พัฒนาการขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งเป็นแว่นแคว้นที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมระดับสูง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดดเด่นด้วยโบราณสถานขนาดใหญ่จำนวนมากมายที่สร้างด้วยศิลาแลง ทั้งในส่วนของเมืองเชลียง อันเป็นเมืองในยุคเริ่มแรก และในส่วนของเมืองศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นส่วนต่อขยายที่เจริญขึ้นในยุคต่อมา โบราณสถานเหล่านี้ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเทือกทิวเขาและแมกไม้อันร่มรื่นปราศจากการรบกวนจากความเจริญสมัยใหม่ จัดว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่มีบรรยากาศงดงามสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศไทย


อันดับ 6 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย

          เมืองโบราณที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเมืองศรีสัชนาลัยอย่างใกล้ชิด ในด้านวัติความเป็นมาขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2534 ในนามเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารร่วมกับเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองกำแพงเพชร เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมอันงดงามอ่อนช้อยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นแหล่งกำเนิดศิลปวัฒนธรรมสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรไทย การวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในด้านศิลปกรรม พุทธประติมากรรมของสุโขทัยได้รับกรยอมรับกันว่าเป็นสุดยอดทางความงามของศิลปะไทย เมืองเก่าสุโขทัยมีโบราณสถานขนาดใหญ่ตระการตาหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะพระพุทธรูปขนาดมหึมา แต่ในเรื่องของบรรยากาศความเป็นธรรมชาติอาจเป็นรองศรีสัชนาลัยอยู่เล็กน้อย เนื่องจากอยู่ใกล้กับเมือง


อันดับ 7 พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

          ตามตำนานกล่าวว่าองค์พระธาตุเดิมสร้างมานานไม่น้อยกว่า 2,300 ปี โดยพระมหากัสสปะพร้อมพระอรหันต์ 500 องค์ ได้นำพระอุรังคธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ พระธาตุพนมเคยล้มทลายลงทั้งองค์ใน พ.ศ. 2518 เนื่องจากความเก่าแก่และถูกพายุฝนกระหน่ำต่อเนื่องกันหลายวัน ชาวไทยทั้งประเทศได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2522 ในวันนี้พระธาตุพนมจึงยังคงตระหง่านงามอยู่เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมไปถึงทางฝั่งลาวด้วย ในวันเพ็ญเดือน 3 ของทุกปี จะมีพุทธศาสนิกชนหลั่งไหลมาร่วมงานสมโภชพระธาตุพรมจากทั่วทุกสารทิศ


อันดับ 8 พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

          ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองนครปฐม พระเจดีย์องค์เดิมมีลักษณะทรงโอคว่ำ หรือทรงมะนาวผ่าซีก แบบเดียวกับพระสถูปสาญจี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า เจดีย์ใหญ่องค์นี้อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นแต่ครั้งพระสมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นและพระราชทานนามใหม่ว่า "พระปฐมเจดีย์" อันมีความหมายว่าเจดีย์แห่งแรก ปัจจุบันยังคงมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมากทุกปี ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ยังเป็นแหล่งรวบรวมศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมสมัยทวารวดีเอาไว้มากที่สุดด้วย


อันดับ 9 อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา

          เมืองโบราณในแบบแผนของสถาปัตยกรรมขอม ชื่อ "พิมาย" มาจากคำว่า "วิมาย" หรือ "วิมายปุระ" ที่ปรากฏในจารึกภาษาขอมบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท  จุดเด่นของเมืองคือปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากหลักฐานศิลาจารึกและรูปแบบทางศิลปะสร้างบ่งบอกว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในฐานะเทวสถานของศาสนาพราหมณ์รูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ยังเป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุศิลปะขอมเอาไว้จำนวนมากและน่าสนใจที่สุดของประเทศไทยอีกด้วย


อันดับ 10 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี

          พระนครคีรี หรือเขาวัง เป็นพระราชวังแห่งเดียวของประเทศไทยที่ตั้งอยู่บนยอดเขา ซึ่งแต่เดิมมีชื่อเรียกว่า "เขาสมณะ" เนื่องจากมีวัดสมณะอารามเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่บนไหล่เขาด้านตะวันออก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ครั้งยังผนวชอยู่เคยเด็จมาปฏิบัติภาวนาบนยอดเขา หลังเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้น โดยยอดเขาทางทิศตะวันตกเป็นที่ประทับและเรือนบริวารยอดกลางเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมเพชร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และบนยอดเขาด้านตะวันออกเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว อารามประจำพระราชวังพระนครคีรี พระราชทานนามว่า "พระราชวังพระนครคีรี" โดดเด่นด้วยความงดงามของสัดส่วนที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างสถาปัตยกรรมกับสภาพภูมิประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น